• ระบบสุริยะ (Solar system)

        วัตถุในระบบสุริยะ ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์อยู่ตรงศูนย์กลางของระบบ มีดาวเคราะห์และวัตถุขนาดเล็ก เช่น ดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง เป็นบริวารโคจรล้อมรอบ  ดาวเคราะห์บางดวงมีดวงจันทร์บริวารโคจรล้อมรอบ
ดวงอาทิตย์ (Sun) คือ ดาวฤกษ์ซึ่งมีมวลร้อยละ 99 ของระบบสุริยะ จึงทำให้อวกาศโค้งเกิดเป็นศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วง โดยมีดาวเคราะห์และบริวารทั้งหลายโคจรล้อมรอบ มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจนซึ่งเป็นอยู่ในสถานะพลาสมา (แก๊สที่มีอุณหภูมิสูงมากจนประจุหลุดออกมา) จากการที่ดวงอาทิตย์มีเฉพาะส่วนที่เป็นพลาสมา ไม่มีส่วนที่เป็นของแข็ง ทำให้อัตราเร็วของการหมุนรอบตัวเองในแต่ละส่วนมีความต่างกัน เช่นที่เส้นศูนย์สูตรจะหมุนเร็วกว่าที่ขั้ว ที่เส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์มีคาบการหมุนรอบตัวเอง 25 วัน ส่วนที่ขั้วมีคาบ 35 วัน แต่เมื่อสังเกตบนโลกแล้วจะพบว่าคาบของการหมุนรอบตัวเองที่เส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์คือ 28 วัน
ดาวเคราะห์ (Planet) คือ บริวารขนาดใหญ่ของดวงอาทิตย์ 8 ดวง เรียงลำดับจากใกล้ไปไกล ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์​ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ดาวเคราะห์ทั้งแปดโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีระนาบใกล้เคียงกับระนาบสุริยวิถี ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่สะท้อนแสงอาทิตย์ส่องเข้าไปตาเรา การแบ่งประเภทดาวเคราะห์ (Planet types) >
ดาวเคราะห์แคระ (Dwarf Planets) เป็นนิยามใหม่ของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International    Astronomical Union)  เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ที่กล่าวถึง วัตถุขนาดเล็กที่มีรูปร่างคล้ายทรงกลม แต่มีวงโคจรเป็นรูปรี    ซ้อนทับกับดาวเคราะห์ดวงอื่น และไม่อยู่ในระนาบของสุริยะวิถี  อ่าน > ซึ่งได้แก่ ซีรีส พัลลาส พลูโต    และดาวที่เพิ่งค้นพบใหม่ เช่น อีริส เซ็ดนา วารูนา  เป็นต้น

ขนาดของดาวเคราะห์แคระเปรียบเทียบกับโลก (ที่มา: NASA, JPL)
ดาวเคราะห์น้อย  (Asteroids หรือบางครั้งเรียกว่า Minor Planet / Planetoid) เกิดจากวัสดุที่ไม่สามารถรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ได้    เนื่องจากแรงรบกวนจากดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์  ดังเราจะพบว่า   ประชากรของดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่อยู่ที่ “แถบดาวเคราะห์น้อย” (Asteroid belt)   ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี   บางครั้งก็เรียกแถบดาวเคราะห์น้อยว่า "แถบหลัก" เพื่อแยกแยะมันออกจากดาวเคราะห์น้อยกลุ่มอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระบบสุริยะ เช่น แถบไคเปอร์ ดาวเคราะห์แคระ เช่น เซเรส   ก็เคยจัดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (เส้นผ่านศูนย์กลาง 900 กิโลเมตร)    ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่จะมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปรีมาก  และไม่อยู่ในระนาบสุริยะวิถี   ขณะนี้มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยแล้วประมาณ 3 แสนดวง
แถบดาวเคราะห์น้อย (ที่มา: Pearson Prentice Hall, Inc)
ดวงจันทร์บริวาร (Satellites)  โลกมิใช่ดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีดวงจันทร์บริวาร  โลกมีบริวาร
ชื่อว่า “ดวงจันทร์” (The Moon)  ขณะที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นก็มีบริวารเช่นกัน  เช่น ดาวพฤหัสบดีมี
ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ 4 ดวงชื่อ ไอโอ (Io), ยูโรปา (Europa), กันนีมีด (ganymede) และคัลลิสโต (Callisto)  ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพียงแต่ดวงจันทร์มิได้รวมตัวกับ
ดาวเคราะห์โดยตรง แต่ก่อตัวขึ้นภายในวงโคจรของดาวเคราะห์  เราจะสังเกตได้ว่า หากมองจากด้านบน
ของระบบสุริยะ  จะเห็นได้ว่า ทั้งดวงอาทิตย์    ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ส่วนใหญ่  จะหมุนรอบตัวเองในทิศทวนเข็มนาฬิกา  และโคจรรอบดวงทิตย์ในทิศทวนเข็มนาฬิกาเช่นกันหากมองจากด้านข้างของ
ระบบสุริยะก็จะพบว่า    ทั้งดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดวงจันทร์บริวาร จะอยู่ในระนาบที่ใกล้เคียงกับ
สุริยะวิถีมาก  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากระบบสุริยะทั้งระบบ ก็กำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน โดยการยุบและหมุนตัว
ของจานฝุ่น  
อุกกาบาต (Meteorite) คือ วัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กกว่า 1 กิโลเมตร โดยตกลงแล้วยังเผาไหม้ไม่หมด แต่หากไหม้หมดเรียกว่า  "ดาวตก" หรือ "ผีพุ่งใต้" (Meteor หรือ Shooting star) หากยังไม่ถูกดึงเข้ามาตกสู่โลก คือลอยอยู่ในอวกาศ  เรียกว่า "สะเก็ดดาว" (Meteoroids)
ดาวหาง (Comets) เป็นวัตถุขนาดเล็กเช่นเดียวกับดาวเคราะห์น้อย    แต่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงยาวรีมาก  มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซในสถานะของแข็ง    เมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้าหาดวงอาทิตย์ ความร้อนจะให้มวลของมันระเหิดกลายเป็นก๊าซ    ลมสุริยะเป่าให้ก๊าซเล่านั้นพุ่งออกไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ กลายเป็นหาง
วัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Objects) เป็นวัตถุที่หนาวเย็นเช่นเดียวกับดาวหาง   แต่มีวงโคจรอยู่ถัดจากดาวเนปจูนออกไป บางครั้งจึงเรียกว่า Trans Neptune Objects    ทั้งนี้แถบคุยเปอร์จะอยู่ในระนาบของสุริยะวิถี โดยมีระยะห่างออกไปตั้งแต่ 40 – 500 AU (AU ย่อมาจาก   Astronomical Unit หรือ หน่วยดาราศาสตร์ เท่ากับระยะทางระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ หรือ 150   ล้านกิโลเมตร)   ดาวพลูโตเองก็จัดว่าเป็นวัตถุในแถบคุยเปอร์ รวมทั้งดาวเคราะห์แคระซึ่งค้นพบใหม่ เช่น อีริส   เซ็ดนา วารูนา  เป็นต้น  ปัจจุบันมีการค้นพบวัตถุในแถบไคเปอร์แล้วมากกว่า 35,000 ดวง
เมฆออร์ท (Oort Cloud)  เป็นสมมติฐานที่ตั้งขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ชื่อ แจน ออร์ท (Jan Oort) ซึ่งเชื่อว่า ณ สุดขอบของระบบสุริยะ รัศมีประมาณ 50,000 AU จากดวงอาทิตย์  ระบบสุริยะของเราห่อหุ้มด้วยวัสดุก๊าซแข็ง ซึ่งหากมีแรงโน้มถ่วงจากภายนอกมากระทบกระเทือน   ก๊าซแข็งเหล่านี้ก็จะหลุดเข้าสู่วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ กลายเป็นดาวหางวงโคจรคาบยาว (Long-period   comets)

ตำแหน่งของแถบไคเปอร์และเมฆออร์ท

เทห์วัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ (Small Solar-System Bodies) หมายถึง วัตถุอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว 

ข้อมูลที่น่ารู้

กำเนิดระบบสุริยะ (Solar Birth theory)
ระบบสุริยะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12,000 ล้านกิโลเมตร
99% ของเนื้อสารทั้งหมดของระบบสุริยะ รวมอยู่ที่ดวงอาทิตย์
ในปัจจุบันถือว่า ดาวเคราะห์มี 8 ดวง  ดาวพลูโต   ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ เช่น ซีรีส จูโน พัลลาส เวสตา  และวัตถุไคเปอร์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น อีรีส เซดนา  ถูกจัดประเภทใหม่ว่าเป็น ดาวเคราะห์แคระ
ดาวศุกร์มีอุณหภูมิพื้นผิวที่สูงสุดในระบบสุริยะ (ร้อนกว่าดาวพุธ) เนื่องจากมีภาวะเรือนกระจก
ดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่ถูกค้นพบแล้ว มีจำนวนไม่น้อยกว่า 130 ดวง
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากกว่า 300,000 ดวง  ส่วนใหญ่อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย  ระหว่างวงโคจรของดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี  นอกจากนั้นยังมีกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจัน  ซึ่งอยู่ร่วมวงโคจรกับดาวพฤหัสบดี  และยังมีดาวเคราะห์น้อยบางดวงโคจรเข้าใกล้โลกมากกว่าดวงจันทร์
ดาวเคราะห์น้อยบางดวงมีดวงจันทร์บริวารด้วย เช่น ดาวเคราะห์น้อยไอดา (Ida) ขนาด 28 x 13 กิโลเมตร  มีดวงจันทร์แดคทิล (Dactyl)ขนาด 1 กม. โดยมีรัศมีวงโคจร 100 กิโลเมตร
ดาวพลูโตที่จัดว่าเป็นดาวเคราะห์แคระ มีดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 3 ดวง
Light year หมายถึง ระยะทางระหว่างดาราจักร ไม่ใช่หน่วยวัดเวลา โดย 1 ปีแสง มีค่าเป็นไปตามข้อกำหนดของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล คือ 9,460,730,472,580.8 กิโลเมตร
Astronomical Units เป็นระยะทาง ในหน่วยดาราศาสตร์ (AU) คือ ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 93 ล้านไมล์
เนบิวลา  (Nebula)  เป็นกลุ่มแก๊สและฝุ่นผงในอวกาศที่จับกลุ่มกันค่อนข้างหนาแน่นอยู่ในที่ว่างระหว่างดาวฤกษ์  มีทั้งประเภทเรืองแสงและไม่เรืองแสง  และการที่เนบิวลาเรืองแสงได้  ก็เพราะแก๊สได้รับหลังงานสูงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้

เพิ่มเติม :

- wiki : ดาวเคราะห์แคระ (Dwarf planet)
- wiki : เมฆออร์ท (Oort Cloud)
- wiki : ดาวบริวาร (Natural satellite)
- LEZA : ดวงอาทิตย์ (Sun)
- LEZA : ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid)
- LEZA : อุกกาบาต (Meteorite)
- LEZA : ดาวหาง (comet)
- LEZA : ฝนดาวตก (Meteor shower)
- อ้างอิง I
- อ้างอิง II